มาถึงน้อง...จะว่าใหม่ก็ไม่ใหม่เท่าใดนัก เพียงแต่บ้านเราไม่ค่อยได้รับความนิยม หรือเป็นเพราะทางเราไม่ได้นำมาเสนอแต่แรกก็ไม่ทราบได้ค่ะ การจิบชา ดื่มชา ธรรมดาก็นับว่าเป็นความละเมียดอย่างยิ่งยวดแล้ว อารมณ์ศิลป์ และกวี นักปรัชญา หลากหลายบทความ สำนวนคำคม ก็มักจะได้จากการนั่งทอดอารมณ์จิบชาไปนั่นเอง
ชาที่นำมาเสนอนี้ นับได้ว่าเป็นงานศิลปะแขวงหนึ่ง ของผู้ผลิตชาเลยทีเดียว ที่ผู้ผลิตประดิษฐ์ประดอยอย่างใจเย็น ใช้ใบชาส่วนที่เป็นชาขาวอย่างดี จีบประดับกับดอกไม้สมุนไพรนานาที่ทรงคุณค่าทางโภชนาการ และมีคุณค่าในการบำรุงดูแลรักษาสุขภาพอย่างมาก
หากใครได้เคยไปเที่ยวดอยแม่สลอง ชาชนิดนี้แม่ค้าร้านชาหลากหลายจะเรียกเป็นเสียงเดียวกันว่า "ชาบานไม่รู้โรย" ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว บ้านชาหอมนะโมไม่อยากเรียกอย่างนั้นเท่าใดนัก เหตุผลก็คือ ชานั้นไม่ได้มีดอกบานไม่รู้โรยเป็นส่วนประกอบเพียงอย่างเดียว เราจึงอยากจะเรียกมันว่า "ชาดอกไม้บาน-งานศิลปะแห่งชา"
การผลิตชานี้ นับว่าเป็นงานศิลปะจริงๆ ค่ะ เริ่มจากผู้สร้างสรรค์ผลงานเกิดจากแรงงานฝีมือล้วนๆ ขั้นตอนการผลิตนั้นจะไม่พูดถึงเสียหน่อยก็จะกระไรอยู่ ยิ่งเรานั่งจิบชาไปมองเขาทำงานไป ช่างรื่นรมย์เสียจริงๆ ค่ะ อยากให้ลองนึกภาพถึงยุคไทยโบราณนิดๆ ที่หญิงงามต้องถูกฝึกให้นุ่งผ้าถุง-โจงกระเบน นั่งพับเพียบแล้วร้อยดอกไม้นะคะ คนนั่งทำต้องใจเย็นมากๆ หากใจร้อนการจัดเรียงดอกไม้ก็ไม่สวยงาม

การทำชาชนิดนี้ก็เช่นเดียวกัน เริ่มจากการคัดสรรชาขาวคุณภาพดี ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีถึงสรรพคุณนานับประการ นับมาจับเรียงตัวให้สวยงามได้รูป เลือกดอกไม้สมุนไพรชนิดต่างๆ จัดเรียงลงไปตามความต้องการ ตามแบบเพื่อความสวยงาม โดยยังคงคุณค่าของทั้งชาและดอกไม้สมุนไพร ผูกมัดชากับดอกไม้ที่ฐานให้แน่นหนา ก่อนจะมีกรรมวิธีจีบห่อใบชาให้หุ้มดอกไม้ไว้จนมิด ซึ่งจะเหมือนที่เราเห็นก่อนชงชาให้บานค่ะ ( ขั้นตอนต่างๆ ไม่สามารถบรรยายได้หมดค่ะ เพราะเป็นงานฝีมือแท้ๆ และบอกได้เลยว่ามีความสลับซับซ้อนไม่ใช่น้อย )
ดอกไม้สมุนไพรที่ได้รับความนิยมให้นำมาประดับร่วมได้แก่ ดอกบานไม้รู้โรย , ดอกเก็กฮวย , ดอกมะลิ , ดอกโบตั๋น , ดอกดาวเรือง ฯลฯ
ขอปิดท้ายที่รูปชาซึ่งน่าเสียดายรูปนี้อาจเห็นไม่ชัดนะคะ แต่จริงๆ แล้วชาชนิดนี้เมื่อบานเต็มที่แล้ว จะเป็นรูปเหมือนหัวใจค่ะ บ้างก็ว่า เหมือนรูปแหวนมากกว่า น่าจะเหมาะกับการบอกรักใครสักคนค่ะ โรงงานผู้ผลิต: ฟูเจี้ยน,ยูนนาน-ประเทศจีน |